ANTI-CORRUPTION

กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ และผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ จะไม่เรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว เพื่อนและคนรู้จักในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงทุกธุรกิจ และทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ธุรกิจของบริษัทฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย

แนวทางการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

1. บริษัทฯ ต้องกำหนดให้มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รั่ปชั่น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการของบริษัท ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา พนักงานทุกคนทุกระดับ ได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นบรรลุ ตามนโยบายที่กำหนดอย่างเหมาะสม ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย โดย

1.1 จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัท และจัดทำมาตรการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเสี่ยงนั้น และเป็นไปตามระบบควบคุมภายในทุกไตรมาส

1.2 จัดให้มีการปฐมนิเทศและการฝึกอบรมให้แก่บุคลากร เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ และขั้นตอนปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

1.3 จัดให้มีระบบควบคุมภายใน เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

1.4 จัดให้มีการรายงาน การติดตาม และการทบทวนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีขั้นตอนการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ว่านโยบายมีความครบถ้วน เพียงพอ และทันต่อสถานการณ์

1.5 จัดให้มีช่องทางในการสื่อสารที่ปลอดภัยให้บุคลากรของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สามารถขอคำแนะนำ แจ้งเบาะแส ข้อเสนอแนะ หรือร้องเรียน กรณีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีมาตรการคุ้มครองสิทธิให้แก่บุคคลดังกล่าว

1.6 จัดให้มีการสื่อสาร นโยบายในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามในวงกว้าง ซึ่งรวมไปถึงการแจ้งให้บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทฯ มีอำนาจในการควบคุม และตัวแทนทางธุรกิจ นำนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ ไปปฏิบัติ

2. ผู้บริหารและพนักงาน ต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ดังนี้

2.1 ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนเอง ด้วยความโปร่งใส อันหมายรวมถึงความพร้อมรับการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่จากบริษัทฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา

2.2 การจ่ายเงินหรือให้สิ่งของมีค่า หรือบริการ อาทิ ของขวัญ (Gift) ความบันเทิง (Entertainment) การท่องเที่ยว (Travel) ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ รัฐต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการ หรือละเว้นกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ไม่สมควรปฏิบัติอย่างยิ่ง ทั้งนี้ รวมถึงไม่ควรส่งเสริม หรือมีส่วนร่วมให้บุคคลอื่นมีการกระทำดังกล่าวด้วย

2.3 ในการจัดซื้อ จัดจ้าง ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัทฯ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

2.4 การใช้จ่ายในการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ และการใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจ สามารถกระทำได้ตามระเบียบปฏิบัติกำหนด แต่ต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลและมีการตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น นำไปสู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร บริษัทฯต้องจัดให้มีกระบวนการสนับสนุน เพื่อป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นที่เพียงพอ ได้แก่ กระบวนการในการตรวจสอบกระบวนการทำงานต่างๆ โดยกำหนดให้เป็นระเบียบปฏิบัติภายในองค์กร รวมทั้งมีการควบคุมภายในที่ครอบคลุมการป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ


หน้าที่และความรับผิดชอบ

เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นจะได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างทั่วถึงทั้งองค์กรและมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน บริษัทฯ จึงกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคคลหรือหน่วยงานดังต่อไปนี้


1. คณะกรรมการบริษัท

1.1 พิจารณาและอนุมัตินโยบายทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในบริษัทฯ เพื่อให้ฝ่ายบริหารและพนักงานทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยจัดให้มีการทบทวนนโยบายดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

1.2 กำหนดขอบเขตของมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เพียงพอ สนับสนุนและกำกับดูแลให้บริษัทฯ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการดังกล่าว

1.3 พิจารณารายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รายงานการกระทำการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ พิจารณาบทลงโทษ ตลอดจนร่วมกันหารือวิธีการแก้ปัญหา และแนวทางป้องกันให้กับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

1.4 พิจารณาประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อกำกับดูแลให้มีการดำเนินการที่ทันต่อสถานการณ์


2. คณะกรรมการตรวจสอบ

2.1 สอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายใน และระบบบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่มีความรัดกุม เหมาะสม ทันสมัย และมีการรายงานอย่างครบถ้วนถูกต้อง

2.2 พิจารณารายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

2.3 พิจารณาประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อกำกับดูแลให้มีการดำเนินการที่ทันต่อสถานการณ์

2.4 รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อคณะกรรมการบริษัท

2.5 รับเรื่องแจ้งเบาะแสการกระทำอันทุจริต ที่บุคคลในองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้งและเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาร่วมกัน ตลอดจนพิจารณาบทลงโทษหรือการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


3. คณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล

3.1 ทบทวนแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้ความเห็นชอบเรื่องการแก้ไขปรับปรุง ก่อนเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3.2 ให้ความเห็นและข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารในการจัดทำแผนและนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้


4. ผู้ตรวจสอบภายใน

4.1 สอบทานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสม ต่อความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น สอบทานระบบควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน และการประเมินผลการตรวจสอบระบบควบคุมภายใน ที่เกิดจากความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งแจ้งและติดตามผลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายจัดการได้มีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นดังกล่าวทุกไตรมาส

4.2 ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบได้มอบหมาย ในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร นอกเหนือจากการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้


5. กรรมการผู้จัดการใหญ่

5.1 จัดให้มีการดำเนินการด้านการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ โดยสนับสนุนนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นและสื่อสารไปยังผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของกระบวนการทำงาน และมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย

5.2 นำเสนอประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น (ถ้ามี) ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท

5.3 กำหนดให้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงาน มีหน้าที่รณรงค์ ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

5.4 จัดให้มีการรายงานผลการตรวจสอบตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทรับทราบอย่างสม่ำเสมอ


6. ผู้บริหาร

6.1 ปฏิบัติและส่งเสริมจริยธรรม จรรยาบรรณ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพนักงาน และกำหนดให้มีระบบในการสนับสนุนนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

6.2 ทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การแบ่งแยกหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มีการสอบทานความถูกต้อง การทำธุรกรรมกับบุคคลเกี่ยวข้อง ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อป้องการการใช้อำนาจในทางมิชอบ เป็นต้น

6.3 จัดให้มีการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงาน

6.4 สอบทานและติดตามการปฏิบัติงานของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามนโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับของบริษัทฯ

6.5 รายงานกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นต่อคณะกรรมการตรวจสอบ หรือคณะกรรมการบริษัทตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี


7. พนักงาน

7.1 ปฏิบัติตามนโยบาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงปฏิบัติตามคู่มือจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ

7.2 รายงานเหตุการณ์ที่น่าสงสัย หรือ พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนบุคคลภายนอก เช่น คู่ค้า ลูกค้า และบุคคลเกี่ยวข้อง ฯลฯ ตามกระบวนการที่บริษัทกำหนด

7.3 สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

7.4 พนักงานทุกคนต้องเปิดเผยรายการความขัดแย้งของผลประโยชน์กับบริษัทฯ

แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
1. การต่อต้านสินบนและการทุจริตคอร์รัปชั่น

1.1 ไม่ให้คำมั่นสัญญา หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบน หรือการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะดำเนินการไปเพื่อผลประโยชน์ต่อตนเอง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้รับประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม มาตรการนี้ให้ใช้กับการติดต่อกับภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ

1.2 ไม่เสนอ หรือให้สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้จะเป็นจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยอำนวยความสะดวก หรือเพื่อให้เร่งดำเนินการหรือให้บริการที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เหมาะสม

1.3 หลีกเลี่ยง และไม่ให้การสนับสนุนการทำธุรกิจ/ ธุรกรรมกับบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ถูกกล่าวโทษ หรือถูกชี้มูลความผิด โดยหน่วยงานทางการที่มีอำนาจกำกับดูแล


2. การให้หรือรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด

กรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ สามารถกระทำการ รับและให้ของขวัญ ทรัพย์สิน ให้บริการต้อนรับ หรือประโยชน์อื่นใด ได้โดยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

2.1 ดำเนินการอย่างถูกต้อง เปิดเผย และโปร่งใส โดยไม่ขัดต่อหลักศีลธรรม เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯ รวมถึงหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

2.2 มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เทศกาล และขนบธรรมเนียมประเพณีที่พึงกระทำต่อกัน

2.3 ไม่ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่น

2.4 ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของบริษัทฯ ทั้งนี้ ห้ามรับหรือให้ของขวัญ บริการต้อนรับ หรือประโยชน์อื่นๆ หากการกระทำเหล่านั้นจะมีผลกระทบเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทฯ


3. ความเป็นกลางทางการเมือง

กรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ สามารถกระทำการ รับและให้ของขวัญ ทรัพย์สิน ให้บริการต้อนรับ หรือประโยชน์อื่นใด ได้โดยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

3.1 พึงรักษาความเป็นกลางทางการเมือง โดยไม่ให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเมืองแก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่ง ในนามของบริษัทฯ รวมถึงไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่าองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นพิเศษ

3.2 ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นความสนใจส่วนตัวโดยใช้ทรัพย์สิน ทรัพยากร หรือเวลาในการปฏิบัติงานของบริษัทฯ โดยถือว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการสนับสนุนทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม

3.3 บริษัทฯ สนับสนุนการใช้สิทธิทางการเมืองของตนเอง ในฐานะพลเมืองดีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


4. การบริจาคเพื่อการกุศล และการใช้เงินสนับสนุน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านการพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งการบริจาคเพื่อการกุศล ถือเป็นวิธีการหนึ่งของการช่วยเหลือสังคมเช่นกัน การให้เงินสนับสนุน แตกต่างจากการบริจาคเพื่อการกุศล เนื่องจากการให้เงินสนับสนุนมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัทฯ ซึ่งมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการจ่ายเงิน หรือทรัพย์สินอื่นๆ สำหรับการบริการหรือผลประโยชน์ที่ยากต่อการวัดผลและการติดตาม

4.1 การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุนของบริษัทฯ จะต้องมีกระบวนการพิจารณาอย่างโปร่งใส และมีขั้นตอนในการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลและการให้เงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบนหรือทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงไม่มีความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องทางการเมืองใดๆ

4.2 บริจาคเพื่อการกุศล จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง ว่าองค์กรหรือหน่วยงานใดๆ ที่จะบริจาคนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง และไม่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่ผิดกฎหมาย รวมถึงพิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทฯ ด้วย

4.3 การให้เงินสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น เงิน สิ่งของ หรือทรัพย์สินแก่กิจกรรมหรือโครงการใดจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือนโยบายในการดำเนินงานของบริษัทฯโดยมีกระบวนการพิจารณาที่โปร่งใส ปราศจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์

การบังคับใช้ การสื่อสาร และการฝึกอบรม

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ มีผลบังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่รับทำงานให้กับบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติ “นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัททุกครั้ง


1. การสื่อสาร

1.1 จัดให้มีการสื่อสารนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบ ประกอบด้วย กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน บริษัทในเครือ บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทฯ มีอำนาจในการควบคุม ตัวแทนทางธุรกิจ และคู่ค้า

1.2 จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ และเมื่อมีการจัดทำหรือปรับปรุงนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องให้มีการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลทุกครั้ง ตามช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อาทิ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (“แบบ 56-1”) รายงานประจำปี (“แบบ 56-2”) รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น อีเมล์ภายใน หรือเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.spcg.co.th) เป็นต้น


2. การฝึกอบรม

2.1 จัดให้มีการปฐมนิเทศและฝึกอบรม เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้แก่กรรมการ พนักงาน และผู้บริหาร

2.2 สนับสนุนให้กรรมการและผู้บริหารมีส่วนในการให้ความรู้แก่พนักงาน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยกำหนดให้มีการทบทวนความเข้าใจ และรับรู้ถึงบทลงโทษ หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

บทลงโทษ และการดำเนินการกรณีฝ่าฝืน

นโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการปฏิบัติงาน กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตาม ย่อมถูกสอบสวนและพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้าง ทั้งนี้ การลงโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทฯ จะถือตามคำตัดสินของคณะกรรมการบริษัทถือเป็นอันสิ้นสุด

Call 02.011.8111
Copyright © 2019 SPCG Public Company Limited. All rights reserved. Designed by DEGITO