ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น SPCG อนุมัติลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม EEC
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ได้มีการอนุมัติการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (“EEC”) กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ผ่านบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด และการเข้ารับโอนกิจการทั้งหมด ของบริษัท มิตซู เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 40 ในบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ซึ่งเข้าข่ายเป็นการซื้อหรือรับโอนกิจการของบริษัทอื่นมาเป็นของบริษัทฯ และทั้งการลงทุนในโครงการฯ และการเข้ารับโอนกิจการทั้งหมด เข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยมีจำนวนเสียงรวมทั้งสิ้น 648,963,952 เสียง
โดย ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 (Record Date) ในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 มีผู้ถือหุ้นจำนวนทั้งสิ้น 10,368 ราย นับรวมจำนวนหุ้นทั้งหมดได้ 973,990,000 หุ้น โดยในวันประชุมมีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมจำนวน 202 ราย เป็นผู้ถือหุ้นที่มาด้วยตนเอง 68 ราย นับรวมจำนวนหุ้นทั้งหมดได้ 23,588,586 หุ้น และผู้ที่รับมอบฉันทะ 134 ราย นับรวมจำนวนหุ้นทั้งหมดได้ 625,385,758 หุ้น รวมเป็นจำนวนหุ้นทั้งหมด 648,974,344 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 66.6305 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งครบเป็นองค์ประชุม
ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดหาที่ดิน เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่เขต EEC คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2564 และพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์เฟสแรกรวมไม่น้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 และจะพิจารณาการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งอีกไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณใช้ไฟฟ้าที่คาดการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 ซึ่งการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะสามารถขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทฯ เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า และโอกาสในการรับรู้รายได้และกำไรอย่างมีนัยสำคัญ และขับเคลื่อนให้พื้นที่ EEC ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นเมืองพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ จะสามารถช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 50,000 คนในช่วงของการพัฒนาโครงการ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่ผู้มีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า 11 ล้านตันคาร์บอน ภายในระยะเวลา 30 ปี หรือประมาณ 4 แสนตันคาร์บอนต่อปี โดยทางโครงการมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด